ผวจ.อุบลฯ ตรวจความพร้อมกำลังพลเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกล ยานพาหนะ และเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2565 ( 9 ส.ค.65) ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีตรวจความพร้อมกำลังพลเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกล ยานพาหนะ และเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จากเกิดเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา และในปี 2562 จังหวัดอุบลราชธานี ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ จากอิทธิพลของพายุ”โพดุล” และ “คาจิกิ” เมื่อปี 2562 ส่งผลกระทบ จำนวน 25 อำเภอ 3 เทศบาล 202 ตำบล 49 ชุมชน 2021 หมู่บ้าน 42,383 ครัวเรือน ประชาชนอพยพ จำนวน 22,947 คน บ้านเรือนเสียหาย 16,245 หลัง โดยกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัย ให้เป็นภัยขนาดใหญ่ ระดับ 3
จังหวัดอุบลราชธานี ตรวจความพร้อมฯ และฝึกศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ขึ้น โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมในการตรวจความพร้อมในวันนี้ประกอบด้วยคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2565 จำนวน 25 หน่วย กำลังพล เจ้าหน้าที่ จำนวน 100 คน เครื่องจักรกล ยานพาหนะ และเครื่องมืออุปกรณ์มากกว่า 50 รายการ นอกจากนี้ เมื่อตรวจความพร้อมแล้ว ยังได้กำหนดจัดการฝึกศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ระหว่างศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ จังหวัด ไปยังศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ อำเภอ ทั้ง 25 อำเภอ และเทศบาลขนาดใหญ่ ได้แก่ เทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศบาลเมือง ทุกแห่ง ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting โดยการฝึกในรูปแบบการฝึกบนโต๊ะ Table Exercise :TTX เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2565 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ด้าน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำ จังหวัดอุบลราชธานี คณะทำงานด้านติดตามข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำ และปริมาณน้ำฝน และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง จากการประมวลข้อมูลในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าตั้งแต่ช่วงเข้าหน้าฝนในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนจะมากกว่าในช่วงต้นฤดูฝน ดังนั้นผลกระทบจึงยังไม่เกิดขึ้น ไม่เหมือนกับช่วงปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนจะหนักในเดือนตุลาคม พฤศจิกายน มีปริมาณน้ำจากทางตอนเหนือ ตอนบน ของแม่น้ำมูลแม่น้ำชี ไหลมาสมทบ สำหรับในปีนี้ปริมาณน้ำฝน ถึงวันนี้ ถึงแม้จะสูงกว่าในปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่ในการบริหารจัดการน้ำที่จะระบายลงสู่แม่น้ำมูล เพื่อที่จะรักษาระดับไม่ให้เกิดผลกระทบ โดยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยอาคารบังคับน้ำที่ประตูเขื่อนปากมูลขณะนี้ได้เปิดบานประตู 100 % มาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นมาแล้ว ซึ่งปริมาณการไหลของน้ำระบายได้เต็มที่ ปริมาณน้ำระดับน้ำที่สถานี M7 ระดับ 109 ม.รทก ขณะนี้ยังทรงตัวอยู่ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และระดับน้ำมูลที่ฝั่งวารินชำราบ ยังต่ำกว่าตลิ่ง 2-3 เมตร โดยมั่นใจว่าในช่วงนี้ปริมาณน้ำไม่ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชน