รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์

admin2

รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี 12 ต.ค.65 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ โดยรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำและสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยมีนายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับและสถานการณ์ภาพรวมในพื้นที่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บรรยายสรุปสถานการณ์ภาพรวมของลุ่มน้ำมูล-ลุ่มน้ำชี และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดปัญหาอุทกภัยและการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อาทิ กรมชลประทาน กองบัญชาการกองทัพไทย มณฑลทหารบกที่ 22 และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าร่วม ที่ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 7 อุบลราชธานี ก่อนลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูล บริเวณวัดหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พร้อมเยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่
ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนโดยเร็ว รองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ กอนช. โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหน่วยงานหลัก ในการประสานแผนการบริหารจัดการน้ำของกรรมการลุ่มน้ำ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัดและการประกาศพื้นที่ประสบภัย ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการน้ำในสภาวะเสี่ยงเกิดอุทกภัยและส่งผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด พร้อมมอบหมายให้กรมชลประทาน ดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมปี 2565 ตามที่ กอนช. ได้ให้ความเห็นชอบไว้ และตามมติของคณะทำงานศูนย์ส่วนหน้าฯที่มีความเห็นร่วมกัน ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างทันท่วงที และขอให้จังหวัดร่วมกับหน่วยทหาร สนับสนุนเครื่องมือ ยานพาหนะ และกำลังพล เพื่อเข้าช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว รวมทั้งขอให้จังหวัด หน่วยงานราชการ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมแผนการช่วยเหลือฟื้นฟู ภายหลังน้ำลดให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วต่อไปด้วย
ด้านเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ฝนภาคอีสาน พบว่า ช่วงวันที่ 12-13 ต.ค. ปริมาณฝนมีแนวโน้มลดลง แต่ช่วงวันที่ 14-15 ต.ค. อาจมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่งผลต่อระดับน้ำเล็กน้อย และช่วงวันที่ 16-19 ต.ค. ฝนจะลดลงไปอย่างมาก ถึงอาจไม่มีฝนตกในพื้นที่ภาคอีสานเลย สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีระดับน้ำเริ่มลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังผนังกั้นน้ำเนื่องจากระดับน้ำที่ท่วมสูงเป็นเวลานาน ประกอบกับเขื่อนอุบลรัตน์ยังคงการระบายอยู่ที่ 54 ล้าน ลบ.ม./วินาที อาจส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของผนังกั้นน้ำโดยรอบ ซึ่งได้แจ้งเตือนให้ประชาชนบริเวณรอบผนังกั้นน้ำได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนลุ่มน้ำมูลระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ที่สถานี M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำอยู่ที่+116.5 ม. (รทก.) สูงกว่าตลิ่ง 4.5 ม. ปริมาณน้ำ 5,735 ลบ.ม./วินาที ซึ่งคาดว่าวันที่ 13 ต.ค. ระดับน้ำจะสูงสุดที่ +116.65 ม. (รทก.) สูงกว่าตลิ่ง 4.65 ม. ปริมาณน้ำ 5,885 ลบ.ม./วินาที และหลังจากนั้นจะแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ปัจจุบันที่บริเวณกลางสะพานพิบูลมังสาหารได้ถอนเครื่องผลักดันน้ำออกแล้ว เพื่อไม่ให้กีดขวางการไหลของกระแสน้ำเนื่องจากอัตราการไหลของน้ำบริเวณกลางลำน้ำมีอัตราไหลเร็วอยู่แล้ว แต่ยังเหลือคงเครื่องผลักดันน้ำไว้ 40 เครื่องบริเวณ 2 ข้างลำน้ำ เพื่อช่วยเสริมการระบายน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์หน้าเมื่อระดับน้ำลุ่มน้ำมูลลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติ กอนช. จะได้ประสานการนำเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำในลำน้ำชี ซึ่งคาดว่าช่วงต้นเดือน พ.ย. ระดับน้ำในพื้นที่ภาคอีสานจะเริ่มลดลงและที่เอ่อท่วมสองฝั่งลำน้ำจะทยอยไหลกลับเข้าสู่ลำน้ำหลักเพื่อเร่งระบายลงแม่น้ำโขงให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ควบคู่การพื้นฟูเยียวยาประชาชนที่ประสบอุทกภัยโดยเร็ว
ส่วนวิธีการแก้ปัญหาต้องมีการสร้างผนังกั้นน้ำในส่วนที่เหลือบริเวณชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนหาดสวนยา และชุมชนช่างหม้อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงสั่งการให้สำนักงานโยธาและผังเมือง วางแผนดำเนินการก่อสร้างในแต่ละปี ที่ไหนต่ำที่สุดสร้างก่อนไปตามลำดับ เพื่อน้ำจะได้ไม่ท่วมอีก เพราะรัฐบาลมีแผน 20 ปีให้ดำเนินการทำได้เลย
เจ้าหน้าที่ยืนยันจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 และยังมีการเสนอแผนการทำเส้นทางผันน้ำจากลำน้ำชี ไปลำเซบาย เซบก ไปลงหลังแก่งสะพือประมาณ 800 คิว(ลูกบาศก์เมตร) จุดที่สองจะผันน้ำ แม่น้ำมูลเหนือเขื่อนหัวนาออกไปอีก 1,200 คิว จะสามารถตัดน้ำออกจากลำน้ำทั้งสองแห่งได้ 2,000 คิว ถ้าน้ำไหลมา 4,000 คิว ก็ไม่ทำให้เกิดน้ำท่วม
ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สั่งให้รีบดำเนินการออกแบบเรื่องทำผนังกั้นน้ำไว้ก่อน รอเพียงงบประมาณมา ก็ให้ดำเนินการก่อสร้างในทันที ก่อนจะเดินทางต่อไปดูสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดศรีสะเกษ

Next Post

นำ้ใจจากจังหวัดอำนาจเจริญ วันที่ 5 ของการลงพื้นที่

นำ้ใจจากจังหวัดอำนาจเจริญ วันที่ 5 ของการลงพื้นที่ […]

You May Like

ข่าวภูธร