กาญจนบุรี – องคมนตรี รองประธานกรรมการมูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานมูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติจังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่บ้านไล่โว่-สาละวะ และ พื้นที่ขยายโครงการฯบ้านทิไล่ป้าและบ้านจะแก อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมแควใหญ่ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการมูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานมูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติจังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่บ้านไล่โว่-สาละวะ และ พื้นที่ขยายโครงการฯบ้านทิไล่ป้าและบ้านจะแก อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายรณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายปกรณ์ กรรณวัลลี ปลัดจังหวัดกาญจนบุรี หัวหน้าส่วนราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ และร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์โอกาสนี้ องคมนตรี ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานมูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติจังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่บ้านไล่โว่-สาละวะ อำเภอสังขละบุรี โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการได้รายงานความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน ทั้งด้านการเพิ่มรายได้ ส่งเสริมการปลูกผักในโรงเรียนและชุมชน โดยได้นำพันธุ์ผักและให้ความรู้ด้านการปลูกผักแก่นักเรียนและประชาชน จนได้ผลผลิตสามารถนำไปจำหน่ายซึ่งได้รับความสนใจและความต้องการสั่งซื้อผลผลิตเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน จึงมีแผนที่จะนำพันธุ์ผักที่มีราคาสูงเข้าไปส่งเสริมให้เพาะปลูกเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งจะสร้างแบรนด์ชุมชนและส่งเสริมให้มีการจัดการกลุ่มด้วยการบริหารจัดการตนเองได้ในอนาคต ด้านการทำนารวมมีการรวมกลุ่มและขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น เกิดการสร้างรายได้และมีข้าวไว้บริโภคตลอดปี ทำให้การแก้ปัญหารุกป่าและเผาป่าลดลงได้เป็นอย่างมาก ด้านหนี้สิน ได้ดำเนินการทำสัญญาประนอมหนี้ให้กับผู้ที่มีหนี้สิน ให้เข้ามาในระบบกู้ยืมเงินของภาครัฐ โดยจัดทำในรูปแบบของคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้ดูแล
ด้านการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มีการจัดกิจกรรมห้องเรียนธรรมชาติ นำนักเรียนเข้าค่ายยุววิจัย การส่งเสริมเพื่ออนุรักษ์ทอผ้ากระเหรี่ยง มีการส่งเสริมการรวมกลุ่มกับกลุ่มอาชีพผ้าทอกระเหรี่ยง มีการแนะนำ ให้ความช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมด้านหัตถกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มอาชีพสร้ารายได้ ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในด้านต่างๆ ได้มีแผนการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่โครงการฯ โดยมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างถูกต้อง รวมถึงการส่งเสริมความเข้มแข็งสภาเด็กและเยาวชนตำบลไล่โว่ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อีกด้วย และในด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการดำเนินงานในด้านต่างๆ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่ ทั้งด้านความเป็นอยู่ รายได้ อาชีพ ควบคู่ไปกับการร่วมกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้ดีขึ้นนอกจากนี้ยังได้รับฟังรายงานการดำเนินการในพื้นที่ขยายโครงการฯบ้านทิไล่ป้าและบ้านจะแก อำเภอสังขละบุรี ซึ่งได้ดำเนินการออกสำรวจสำมะโนประชากร ที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ การศึกษา ข้อมูลพื้นที่ เส้นทางคมนาคม ด้านสาธารณสุข ระบบสาธารณูปโภค นำมาเป็นข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าพัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตต่อไปสำหรับมูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นไปตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงริเริ่มและพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เป็นองค์ประธานกรรมการ
มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นการพัฒนาต่อยอดจากโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ (หมู่บ้านสาละวะ และหมู่บ้านไล่โว่) จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อสืบสานพระราชปณิธานการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตชายแดนที่ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง ประชาชนมีความยากลำบากในการดำรงชีวิต โดยพื้นที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ (หมู่บ้านสาละวะ และหมู่บ้านไล่โว่) เป็นชุมชนอยู่ติดชายแดน ถือว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นพื้นที่แหล่งมรดกโลกของประเทศไทยที่ควรได้รับการพัฒนาและอนุรักษ์อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุล และรักษาต้นน้ำเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยแผนการดำเนินงานหลังจากนี้ จะเน้นการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ เน้นเพิ่มรายได้ และลดหนี้สิน, ด้านการส่งเสริมเพื่ออนุรักษ์ผ้าทอกะเหรี่ยง เน้นพัฒนาและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน จะคัดเลือกและฝึกอบรมผู้นำเยาวชนเพื่อเป็นวิศวกรสังคมในการพัฒนาท้องถิ่น
ทีมข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / รายงาน