กาญจนบุรี – นักศึกษาวิศวะฯ ม.มหิดล กาญจนบุรี เผยผลประสิทธิภาพในการดักฝุ่นของไม้พุ่มประดับสวน 10 ชนิด ทางเลือกไม้พุ่มที่มีประโยชน์สำหรับปลูกป้องกันฝุ่นรอบอาคารบ้านเรือนวันนี้ 10 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้เปิดเผยว่า “ นักศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ประกอบด้วย นางสาวสโรชา ขำรัตน์ และนายพัสกร ช้างแก้ว ได้ศึกษาข้อมูล และเผยข้อมูล ผลการทดสอบและวิเคราะห์ผลประสิทธิภาพ ในการดักฝุ่นของไม้พุ่มประดับสวนจากการที่นักศึกษา ได้ศึกษารวบรวม และจัดเก็บข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ดังกล่าว พบว่า บ้านเรือนประชาชน นิยมปลูกไม้พุ่มกั้นระหว่างถนนและตัวบ้านเพื่อความสวยงาม สร้างความเป็นส่วนตัว และอีกหนึ่งในจุดประสงค์คือเพื่อลดฝุ่นจากถนนพัดพาเข้าบ้านนั่นเอง ฝุ่นมีขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของผู้อยู่อาศัยริมถนน อีกทั้งทำให้บ้านเรือนสกปรก จึงได้เสนอแนวทางการเลือกไม้พุ่มเพื่อช่วยลดฝุ่นจากถนน จากการทดลองหาประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นของใบไม้จากไม้พุ่มจำนวน 10 ชนิด บริเวณมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี โดยไม้พุ่มเหล่านี้นิยมปลูกกันตามบ้านเรือนทั่วไปเช่นกัน ได้แก่ ไม้พุ่ม 10 ชนิด ที่ใช้ในการศึกษา1.ประยงค์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Aglaia odorate )2.โมกป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์ Wrightia religiosa )3.ผกากรอง (ชื่อวิทยาศาสตร์ Lantana camara L.)4.หนุมารประสานกาย (ชื่อวิทยาศาสตร์ Schefflera leucantha R.vig.)5.โมกด่าง (ชื่อวิทยาศาสตร์ Wrightia religiosa Benth.)6.เฟื้องฟ้า (ชื่อวิทยาศาสตร์ Bougainvillea )7. พู่ระหง (ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus schizopetalus )8.คริสตินา (ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium austral )9.เทียนทอง (ชื่อวิทยาศาสตร์ Duranta erecta L. )10.สังกรณี (ชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria strigose willd. )
ผลการทดสอบพบว่าใบไม้มีปริมาณในการดักจับฝุ่นแตกต่างกันเนื่องจากปัจจัยทางสัณฐานของใบไม้ ได้แก่ พื้นที่ของใบ ลักษณะการเรียงตัว และลักษณะพื้นผิวของใบไม้ที่ต่างกัน ใบของเฟื่องฟ้าแสดงประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นสูงสุด คือ 0.071 กรัมต่อตารางเซนติเมตร ตามด้วยผกากรอง (0.069 กรัมต่อตารางเซนติเมตร) และเทียนทอง (0.067 กรัมต่อตารางเซนติเมตร) ลักษณะสำคัญของพืชที่มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นสูง คือ ใบไม้ที่มีลักษณะเป็นขนปกคลุมใบไม้ ลักษณะใบหยาบ เพื่อช่วยในการดักจับฝุ่น ประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นของใบพืชแต่ละชนิดในหน่วยกรัมต่อตารางเซนติเมตรโดย ผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการแนะนำและควบคุมคุณภาพโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อาจารย์เอริกา ได้กล่าวในตอนท้ายว่า “ข้อมูลที่นักศึกษาดำเนินการจัดทำ เป็นข้อมูลที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ เพื่อให้ประชาชนและนักศึกษาเห็นประโยชน์ของต้นไม้ที่ช่วยฟอกอากาศและกรองฝุ่นละออง มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ยังมีโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้การจัดการฝุ่นละอองในหลากหลายประเด็น หากประชาชนท่านใดต้องการปรึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ Email [email protected]” สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ในวันและเวลาราชการ ที่เบอร์โทรศัพท์ 034 585058
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ – รายงาน