กาญจนบุรี – ชาวบ้านไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี ปรับการทำนารูปแบบใหม่ อดีตต่างคนต่างทำ จึงมีการบุกรุกพื้นที่ออกไป เพื่อทำนานแบบเลื่อนลอย ปัจจุบันนำวิธีการนารวม เป็นแนวทางจัดการคนกับป่า และคลังอาหารชุมชน ลดการเผาป่าวันนี้ 10 ธ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านสาละวะ หมู่ที่ 4 ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก นายสุทธิพร ศิวเวทพิกุล นายอำเภอสังขละบุรี พร้อมด้วย นายอนุ ทองดี ประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี นายสมสันต์ พิทักษ์ชาติคีรี กำนันตำบลไล่โว่ ทหาร เจ้าหน้าที่อาสาสมัครักษาดินแดน.อำเภอสังขละบุรี ชาวบ้านบ้านสาละวะ รวมกว่า 50 คน ลงแขกเกี่ยวข้าวในพื้นที่นารวมของหมู่บ้าน ซึ่งวันนี้เป็นการเกี่ยวข้าวนารวมแปลงสุดท้าย จากจำนวนทั้งหมดกว่า 30 แปลง ที่ชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทำในช่วงฤดูการทำนาปี 2565 ตั้งแต่การไถ การดำนา จนถึงวันนี้ซึ่งเป็นขั้นตอนการเกี่ยวและการนวดข้าว ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำนา ซึ่งทุกขั้นตอนในการทำนารวมของบ้านสาละวะ ใช้วิธีการลงแขกจึงทำให้ไม่มีต้นทุนในการทำนาแต่อย่างใด
นายสุทธิพร ศิวเวทพิกุล นายอำเภอสังขละบุรี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าการทดลองทำนารวมในพื้นที่บ้านสาละวะปีนี้เป็นปีที่ 2 ซึ่งมีชาวบ้านหันมาสนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้นจะเห็นได้จากในฤดูการทำนาปี2564มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการ20กว่าครอบครัว ในในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น30กว่าครอบครัว จากในอดีตที่ชาวบ้านที่นี่เคยทำไร่ข้าวทำให้เกิดปัญหาการถางป่า และเผาป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทั้งเรื่องมลพิษ ฝุ่นควันในอากาศในฤดูการเผาไร่(เดือน มีนาคม-เมษายน) นอกจากนั้นยังส่งผลให้พื้นที่ป่าลดน้อยลง ก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้งและน้ำลดลงในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนั้นการทำไร่ ที่กระจายไปในหลายพื้นที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการลำเลียงข้าวจากไร่กลับมายุงหมู่บ้าน การทำลายข้าวจากศัตรูในธรรมชาติ ทั้งแมง หนูและหมูป่า ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้บางปีผลผลิตไม่เพียงพอสำหรับบริโภค
จึงได้เกิดแนวคิดการนำพื้นที่ราบ และที่นา ในหมู่บ้านมาทำเป็นแปลงนารวมโดยให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำนาร่วมกัน เช่นแปลงที่กำลังเกี่ยวข้าววันนี้มีสมาชิก 4 ครอบครัว ร่วมกันทำ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปสนับสนุนในเรื่องการสร้างแหล่งน้ำ การไถ การให้ความรู้ในการควบคุมศัตรูพืชในไร่ข้าว ทำให้ที่ในปีที่ผ่านมาชาวบ้านสามารถปลูกข้าวได้เพิ่มขึ้น จนบางครอบครัวสามารถแปรรูปเป็นข้าวสารขายได้
ที่สำคัญการทำนารวมเป็นการสร้างความรัก ความสามัคคี ให้เกิดขึ้นในชุมชน ผ่านการลงแขกทำนาตั้งแต่การไถนา การดำนา การเกี่ยวข้าว จนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการนวดข้าวหรือฟาดข้าว ซึ่งอนาคตอำเภอสังขละบุรีจะร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะทำการขยายโครงการทำนารวมไปยังพื้นที่อื่นในตำบลไล่โว่ ต่อไป
ขณะที่นายคมสันต์ พิทักษ์ชาติคีรี กำนันตำบลไล่โว่ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ปีนี้ผลผลิตข้าวในนารวมของชาวบ้าน บ้านสาละวะน่าจะได้ผลผลิตมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากชาวบ้านให้ความร่วมมือเข้าร่วมโครงการการทำนารวมเพิ่มขึ้น เนื่องเห็นว่าการทำนามีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากเหมือนการทำไร่ ที่สำคัญการทำนารวมทำให้ได้ข้าวมากกว่าการทำไร่ ศรัตรูข้าวน้อยกว่า ที่สำคัญไม่ต้องถางและเผาป่าทุกปี เหมือนการทำไร่ สภาพป่ารอบๆชุมชนกลับมาดีขึ้น สัตว์ป่าเช่นนก เก้ง หมูป่า เพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมรอบๆชุมชนดีขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านมีความสุขเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งคาดว่าในอนาคตชาวบ้านจะหันมาเข้าร่วมโครงการทำนารวมเพิ่มขึ้นจนครอบคลุมทุกครอบครัว
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ – รายงาน