เบตง ซุ้มประตูวัฒนธรรมมลายูความสามัคคีของคนในชุมชนเบตงชนะเลิศการประกวดซุ้มประตูของ ศอ.บต. ยะลา -PINTU GERBANG ซุ้มประตูวัฒนธรรมมลายูความสามัคคีของคนในชุมชนบ้านนันนังสิแน ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดซุ้มประตูของ ศอ.บต. จากผลงาน 31 ซุ้ม ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้วันนี้ 13 มิถุนายน 2566 ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า ศอ.บต. พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มอบรางวัลซุ้มประตู หรือ PINTU GERBANG จากการประกวด PINTU GERBANG ในผลงานที่ประชาชน จชต. รังสรรค์ซุ้มประตูในแต่ละมัสยิด เพื่อต้อนรับเทศกาลฮารีรายออีดิ้ลฟิตรี และการสิ้นสุดลงของเดือนรอมฎอน มีผลงานเข้าสู่รอบสุดท้าย จำนวน 5 ซุ้ม โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ มัสยิดอิตีฮาดุลอุมมะฮ์ บ้านนันนังสิแน ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ มัสยิดนูรุลอิสลามบาโง บ้านบาโง ต.กะรุบี อ.กะพ้อ จ. ปัตตานี รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 ได้แก่ มัสยิดอัลเราะห์มานีย์ บ้านตะโละไกรทอง ต.ตะโละไกรทอง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ในส่วนของรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่มัสยิดอาบีบากัรอัลซิดดิก บ้านอาแว ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และมัสยิดอะดันุลอิสลามียะห์ บ้านจาเราะสโตร์ ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ประเพณี วัฒนธรรมความสามัคคีและความภาคภูมิใจในตัวตนของพี่น้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยึดโยงกับเชื้อชาติ ศาสนาด้วยความศรัทธา แม้ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จะเป็นพี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็ยังมีพี่น้องชาวพุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ทั่วทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย และความสวยงามในความแตกต่าง อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีค่า ในฐานะหน่วยงานภาครัฐพร้อมหนุน และส่งเสริมความเชื่อและอัตลักษณ์ในทุกพื้นที่โดยไม่เลือกปฏิบัติ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า ซุ้มประตูที่สร้างมาด้วยความสามัคคีของคนในชุมชน แขวนกลิ่นอายของวัฒนธรรมและความเชื่อของมลายู ถูกรังสรรค์ให้บ่งบอกถึงวิถีของแต่ละพื้นที่ผ่านลวดลาย โดยการใช้สี วัสดุ และสร้างรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน ให้รู้ถึงความเชื่อและความเป็นไปของแต่ละสถานที่ อย่างไรก็ดี ซุ้มประตู อาจหมายรวมถึงจิตวิญญาณและความศรัทธาที่ถูกหล่อหลอม ออกแบบ วัฒนธรรมของพี่น้องมลายู สร้างความภาคภูมิใจของความเป็นตัวตน ที่เกิดมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน การสื่อสารและแสดงออกถึงความเป็นตัวตนที่ไม่เหมือนกัน อย่างภาคภูมิใจ
ด้านผู้แทนคณะกรรมการตัดสินฯ กล่าวว่า การสร้างซุ้มประตูของพี่น้องในพื้นที่ เป็นความสามัคคีของพี่น้องในชุมชนนั้นๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการประกวด ดังนั้นสิ่งสำคัญในการตัดสินนอกจากความสวยงามแล้ว คือ ความรัก ความสามัคคีที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ โดยซุ้มประตูมัสยิดอิตีฮาดุลอุมมะฮ์ บ้านนันนังสิแน ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา เป็นซุ้มประตูที่มาจากการทำประชาคม การร่วมคิดและตัดสินใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ มีการลงมติในการวาดลวดลาย การเลือกใช้วัสดุพื้นถิ่นในการบอกเล่าความเป็นชุมชนผ่าน PINTU GERBANG คณะกรรมการให้ความสนใจในส่วนนี้เป็นอันดับแรก จากนั้นมีการพิจารณาในเรื่องของความสวยงาม มุมที่มองเข้าไปในซุ้ม รูปทรงที่สื่อถึงความเป็นมาลายู อีกทั้งซุ้มประตูที่เบตง ยังได้รับการกดไลค์เป็นอันดับ 1 ในเพจเฟสบุ๊คของศอ.บต. อีกด้วย ทั้งนี้ จากความสวยงามดังกล่าว ขณะนี้ส่งผลให้พื้นที่บริเวณโดยรอบของซุ้มเกิดเศรษฐกิจเล็กๆ มีการตั้งซุ้มค้าขายของคนในพื้นที่ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวมาเลเซียเข้ามาเที่ยวชมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลงานส่งเข้าประกวดซุ้มประตู หรือ PINTU GERBANG ในปี 2566 มีจำนวน 31 ซุ้ม มีคณะกรรมการตัดสิน ประกอบด้วย อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้แทนสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประธานมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกา 5 จังหวัด ประธานอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ร่วมกันคัดเลือกและพิจารณาตามหลักเกณฑ์[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=m7OaAVKqW6Q[/embedyt]
ข่าว..เจษฎา สิริโยทัย จ.ยะลาโทร.064-126-5593