สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถ และทรงเททองหล่อพระพุทธธรรมมิ่งมงคลรัตนโกฏิราช จำลอง ณ วัดโปรดสัตว์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วันนี้ 29 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00 น. ณ วัดโปรดสัตว์ ตำบลขนอนหลวง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถ และทรงเททองหล่อพระพุทธธรรมมิ่งมงคลรัตนโกฏิราช หลวงพ่อโปรดสัตว์ จำลอง โดยมี นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 18 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยภริยา และนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และผู้แทนราชสกุลสนิทวงศ์ เฝ้าฯ รับเสด็จ พระธรรมรัตนมงคล เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เจริญชัยมงคลคาถา
วัดโปรดสัตว์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นสถานที่รับรองคณะราชทูตจากลังกา ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการจัดส่งทูตานุทูตและคณะสงฆ์ไปยังลังกาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อสิ้นกรุงศรีอยุธยา วัดโปรดสัตว์ถูกทิ้งร้างไป จนกระทั่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ต้นราชสกุลสนิทวงศ์ ได้ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำอัฎอิฐของบรรพบุรุษมาบรรจุไว้ในอุโบสถที่ฐานพระประธาน มีพระพุทธรูปในอุโบสถ และวิหาร หน้าบันอุโบสถ มีตราพระนารายณ์ทรงครุฑถือว่าเป็นตราสัญลักษณ์วัดหลวงมาแต่ก่อน และได้รับการอุปถัมภ์จากราชสกุลสนิทวงศ์สืบมา
โบราณสถานสำคัญในวัดโปรดสัตว์ คือ อุโบสถ ซึ่งพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสนิทพงศ์พัฒนเดช พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงสร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2474 ซึ่งศาสตราจารย์ หลวงวิศาลศิลปกรรม(เชื้อ ปัทมจินดา) เป็นผู้ออกแบบ แล้วเสร็จพุทธศักราช 2485 มีพระประธาน รวม 6 องค์ ในขนาดต่าง ๆ กัน หันพระพักตร์ไปยังทั้ง 4 ทิศ โดยมีพระพุทธรรมมิ่งมงคลรัตนโกฏิราช หรือหลวงพ่อโปรดสัตว์ เป็นพระประธานองค์ใหญ่ เป็นอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมไทยครบถ้วน มีขนาด 7 ห้อง หลังคาลดสองชั้น สีกระเบื้องดูแปลกต่างจากอุโบสถอื่น ๆ คือ สีเขียวและสีน้ำเงิน กระเบื้องพื้นภายในอุโบสถเป็นกระเบื้องดินเผา สีส้ม สั่งมาจากประเทศจีน หน้าบันเป็นไม้แกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุทยุดนาค และที่เหนือซุ้มประตูประดิษฐาน พระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในปีงบประมาณ 2565 กรมศิลปากรได้จัดสรรงบประมาณบูรณะวัดโปรดสัตว์ ทั้งส่วนโครงสร้างฐานรากของอุโบสถที่เสื่อมสภาพเนื่องจากถูกน้ำท่วมขังเป็นประจำ และส่วนองค์ประกอบสถาปัตยกรรมของอุโบสถและเจดีย์ประธาน โดยคณะทำงานได้นำแผนผังรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของศาสตราจารย์ หลวงวิศาลศิลปกรรมมาร่วมพิจารณาในการอนุรักษ์ด้วย
พระพุทธธรรมมิ่งมงคลรัตนโกฎิราช (หลวงพ่อโปรดสัตว์) จำลอง โลหะทองเหลือง ขนาดหน้าตัก 32 นิ้ว จำนวน 1 องค์ สำหรับประดิษฐฐานในอุโบสถ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ปิดทองบูชาแทนการขึ้นไปปิดทององค์จริง ที่สันนิฐานว่าน่าจะมีอายุ ถึง 331 ปี ซึ่งประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่บนฐานชุกชีในอุโบสถ ปูชนียวัตถุ ได้แก่ พระประธานในอุโบสถ พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ และพระมหากัจจายนะ ประดิษฐานอยู่ในวิหาร เจดีย์รูปทรงสมัยอยุธยา ปัจจุบันมี พระสมุห์อำนาจ จินฺตกวิ เป็นเจ้าอาวาส
นางสาว รัตนาภา ศรีวิไชย อยุธยา