กาญจนบุรี – นักท่องเที่ยว และประชาชน ร่วม

admin2

กาญจนบุรี – นักท่องเที่ยว และประชาชน ร่วมงานประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ งานบุญที่ยิ่งใหญ่ของชาวไทยเชื้อสายมอญสังขละบุรี ซึ่งปีนี้จัดงานยิ่งใหญ่อลังการ วันนี้ 30 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานพิธีหน้าเจดีย์พุทธคยา วัดวังก์วิเวการาม ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี นายสุทธิพร ศิวเวทพิกุล นายอำเภอสังขละบุรี เดินทางมาร่วมงานลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายของงาน โดยมีประชาชนและนักท่องเที่ยว กว่า 3,000 คนมาร่วมงาน โดยงานเช้าวันนี้เริ่มด้วยการลากเรือสำเภาจำลองที่ทำจากไม้ไผ่ ซึ่งภายในบรรจุอาหารทั้งคาวหวาน จำนวนทั้งหมด 9 อย่าง อย่างละ1,000 ชิ้น ตามคติความเชื่อที่ทำสืบทอดกันมาแต่ครั้งอดีต นอกจากนั้นภายในเรือยังประดับตกแต่งด้วยตุง ธง หลากสี หลายขนาด เพื่อประดับประดาให้เรือมีความสวยงาม ก่อนจะช่วยกันลากจุงเรือออกจากลานพิธี ไปยังบริเวณสามประสบ(ด้านหลังเจดีย์พุทธคยา) ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสำคัญทั้ง3สามของอำเภอสังขละบุรีไหลมาบรรจบกัน ซึ่งประกอบไปด้วย แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำรันตี และแม่น้ำบี่คลี่ ซึ่งเป็นอันเสร็จสิ้นงานบุญลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ของชาวชาวไทยเชื้อสายมอญสังขละบุรีในปีนี้

สำหรับประวัติความเป็นมาของประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ของคนมอญ บ้านวังกะ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี น.ส.อรัญญา เจริญหงษา รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลวังกะ เล่าให้ฟังว่า เกิดขึ้นเมื่อครั้งพระเจ้าธรรมเจดีย์ กษัตริย์มอญขึ้นครองราชย์ปกครองอาณาจักรมอญ เมืองหงสาวดี พระองค์ทรงเห็นพระภิกษุสามเณรในเมืองมอญหงสาวดี มีความประพฤติย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัย พระพุทธศาสนาในเมืองมอญเกิดมลทินด่างพร้อยมากมาย จึงมีพระราชประสงค์จะสังคายนาพระพุทธศาสนาในเมืองมอญเสียใหม่ เพื่อชำระหมู่พระภิกษุสงฆ์ให้มีความบริสุทธิ์

พระองค์จึงมีพระราชโองการรับสั่งให้พระภิกษุสามเณรในเมืองมอญลาสิกขาเสียทั้งหมด แล้วทรงส่งปะขาวถือศีล 8 คณะหนึ่งคือ อดีตพระเถระผู้ทรงพระไตรปิฎก ทรงความรู้ตั้งมั่นในศีล ที่พระองค์มีคำสั่งให้ลาสิกขามาถือศีล 8 เป็นปะขาวนั่นเอง ให้ออกเดินทางไปประเทศศรีลังกา เพื่อให้ไปถือการอุปสมบทเป็นพระภิกษุมาใหม่จากคณะสงฆ์ในประเทศศรีลังกา เสร็จแล้วให้เดินทางกลับมาเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ บวชให้แก่คนมอญในเมืองมอญเสียใหม่คณะของปะขาวนี้เมื่อเดินทางถึงประเทศศรีลังกา จึงได้รับการอุปสมบทเป็นที่เรียบร้อยตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าธรรมเจดีย์ หลังจากนั้นจึงได้เดินทางกลับเมืองหงสาวดีโดยเรือสำเภา ในระหว่างทางที่เดินทางกลับนั้น เรือสำเภาหนึ่งในจำนวนสองลำโดนพายุที่รุนแรงพัดจนหลงทิศไป จึงมีเพียงเรือสำเภาลำเดียวเท่านั้นที่เดินทางมาถึงเมืองหงสาวดีโดยปลอดภัย เมื่อทราบถึงพระกรรณของพระเจ้าธรรมเจดีย์ พระองค์จึงรับสั่งให้ทำเรือจำลองขึ้นมา ข้างในบรรจุด้วยของเซ่นไหว้บูชาเหล่าเทวดาทุกหมู่เหล่า ด้วยเครื่องเซ่นไหว้นั้น ให้เหล่าเทวดาทั้งหลายที่ดูแลพื้นดินก็ดี ที่ดูแลพื้นน้ำก็ดี ที่ดูแลพื้นอากาศก็ดี ได้มาช่วยปัดเป่าให้เรือสำเภาที่หลงทิศไปนั้นได้เดินทางกลับมายังกรุงหงสาวดีโดยปลอดภัยหลังจากที่พระองค์ทรงทำพิธีสะเดาะเคราะห์แล้วไม่กี่วัน เรือที่หลงทิศนั้นเดินทางกลับมาถึงเมืองหงสาวดีโดยปลอดภัย

จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นชาวมอญจึงถือเอาเหตุการณ์นี้ทำพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ในช่วงกลางเดือน 10 ของทุกๆ ปี สืบต่อกันมาตราบจนปัจจุบันนี้ …เสียง..

สำหรับประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ชาวไทยรามัญอำเภอสังขละบุรี จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ในช่วงวันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบูชาเทวดาที่อยู่ในน้ำ ในป่า และบนบก อีกทั้งเพื่อสืบสานประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชน ตลอดทั้งเป็นการเผยแพร่ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ให้แก่ชุมชน ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้กิจกรรมในงานได้แก่ การเจริญพระพุทธมนต์โดยพระสงฆ์ทั้ง 3 วัน โดยจะมีการเตรียมงานดังนี้ ก่อนถึงวันพิธี ชาวบ้านจะร่วมกันเตรียมทำธง ร่ม และจัดเครื่องบูชาเรือต่างๆ เพื่อถวายวัด โดยมีการแบ่งงานให้หัวหน้าคุ้มต่างๆ ในหมู่บ้าน รับไปให้ลูกบ้านช่วยกันทำแล้วนำมาส่งที่วัด ผู้ชายส่วนหนึ่งจะมารวมกันที่วัดวังก์วิเวการาม เพื่อสร้างเรือจากไม้ไผ่ ประดับตกแต่งด้วยกระดาษหลากสี ในยามหัวค่ำจนถึงเช้ามืดของวันขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านจะทยอยพากันนำธงหลากสี ตุง ร่มกระดาษมาประดับตกแต่งเรือ และบริเวณปะรำพิธีอย่างเนืองแน่น พร้อมนำเครื่องเซ่น ไหว้ เช่น กล้วย อ้อย ขนม ข้าวสุก ดอกไม้ ไปวางไว้ในลำเรือ ก่อนจะจุดเทียนอธิษฐานให้สิ่งไม่ดี และเคราะห์ร้ายต่างๆ ไปให้พ้นจากชีวิตตน และรับฟังบทสวดอิติปิโส 108 จบ และบทสวดสะเดาะเคราะห์จากภิกษุสงฆ์เมื่อถึงเช้าวันแรม 1 ค่ำ ชาวบ้านมารวมตัวกันตั้งเป็นขบวนแห่ มีปล่อยโคมลอยเล็กใหญ่ที่ช่วยกันทำขึ้นมา ประกอบการร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน จากนั้นชาวบ้านทั้งหมดจะช่วยกันลากเรือไปปล่อยกลางน้ำบริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำสามสาย ได้แก่ ซองกาเลีย รันตี และบิคลี่ ที่เรียกกันว่า “สามสบ” หรือ “สามประสบ” นั่นเอง

ด้านนายสุทธิพร ศิวเวทพิกุล นายอำเภอสังขละบุรี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่อีกงานของชาวไทยเชื้อสายมอญที่อยู่อาศัยในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี นอกจากประเพณีสงกรานต์ ซึ่งชาวมอญมีความลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ดังนั้นเมื่อมีงานบุญต่างๆจะเห็นว่าชาวบ้านมีความรัก ความสามัคคี ร่วมแรง ร่วมใจในการจัดงาน โดยมีพระราชอุดมมงคล (หลวงพ่ออุตตมะ)อดีตเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการามเป็นศูนย์รวมจิตใจ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่2 ที่ตนเองได้มาร่วมงาน จึงอยากถือโอกาสนี้เชิญชวนนักท่องเที่ยว ประชาชนที่ยังไม่เคยมาร่วมงานให้หาโอกาสเดินทางมาร่วมงาน เชื่อว่าทุกคนที่มาร่วมงานบุญลอยเรือสะเดาะเคราะห์จะได้ทั้งความสุข และความอิ่มเอมในบุญกลับไปอย่างแน่นอน
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ – รายงาน

Next Post

ข่าวราชบุรี บางแพ พ.ต.อ.สมมาตร จันทรัตน์

ข่าวราชบุรี บางแพ พ.ต.อ.สมมาตร จันทรัตน์ ผกก.สภ.บา […]

You May Like

ข่าวภูธร