“พิชัย” หารือทูตญี่ปุ่น ดึงนักลงทุนเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมอนาคต ยานยนต์-ดิจิทัล เร่งปิดดีล FTA ขยายตลาดส่งออก

admin

“พิชัย” หารือทูตญี่ปุ่น ดึงนักลงทุนเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมอนาคต ยานยนต์-ดิจิทัล เร่งปิดดีล FTA ขยายตลาดส่งออก

 

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (นายโอตากะ มาซาโตะ) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ณ กระทรวงพาณิชย์ โดยตนรู้สึกดีใจที่นักลงทุนญี่ปุ่นจำนวนมากกลับเข้าสู่ไทย และญี่ปุ่นมีการลงทุนเป็นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ลดการลงทุนในไทย ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 ไปร่วมทศวรรษ การได้พบกับท่านทูตมาซาโตะ เป็นการช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน รวมถึงได้ฝากให้ช่วยดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นให้ขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ญี่ปุ่นมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ ยานยนต์ยุคใหม่ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ AI ดาต้าเซนเตอร์ ดิจิทัล แผงวงจรพิมพ์ (PCB) การแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ทั้งได้สานต่อการเจรจาหลังตนได้เยือนญี่ปุ่นดึงนักลงทุนและหารือกับผู้นำระดับสูงของรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พร้อมทั้งให้คำมั่นที่จะขยายตลาดการส่งออกผ่าน FTA ในกลุ่มประเทศที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกต่อไป

นายพิชัย กล่าวว่า ไทยมุ่งหวังเป็นศูนย์กลางสำหรับการค้าและการลงทุน เป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานสมัยใหม่ และการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในวันนี้ตนจึงได้เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติมในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งยานยนต์สันดาปและยานยนต์ยุคใหม่ รวมทั้งอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ญี่ปุ่นมีศักยภาพ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ AI ดาต้าเซนเตอร์ ดิจิทัล แผงวงจรพิมพ์ (PCB) การแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดยที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังเป็นนักลงทุนต่างชาติกลุ่มแรกที่เข้ามาลงทุนขนาดใหญ่ในไทยและมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานอุตสาหกรรมของไทย

และวันนี้ตนยังได้มีโอกาสหารือกับ นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และนายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และคณะ เพื่อความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐกับเอกชนให้ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตยานยนต์ของอาเซียน โดยภาคเอกชนฝากการบ้านให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยขยายตลาดการส่งออกผ่าน FTA ในกลุ่มประเทศที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก เช่น กลุ่มประเทศอาหรับ รวมทั้งการเจรจา FTA ไทย-อียู ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เร่งเจรจา เพื่อปิดจบ FTA ฉบับต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

“เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ได้หารือกับ H.E. Mr. HAYASHI Yoshimasa เลขา ครม. ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงในรัฐบาลญี่ปุ่น และ Mr.Taro KONO สส .จังหวัดคานางาวะ อดีตรัฐมนตรีดิจิทัลของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในญี่ปุ่น ประเด็นความร่วมมือในอุตสาหกรรมใหม่ ที่ญี่ปุ่นกำลังสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของญี่ปุ่นในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยทุ่มงบประมาณมากกว่า 10 ล้านล้านเยน (2.2 ล้านล้านบาท) เพื่อให้ไทยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชนของญี่ปุ่น และได้มีโอกาสพบหารือกับภาคเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่นหลายราย เช่น บริษัท NTT Corporation บริษัท TOYOTA TSUSHO บริษัท GS Yuasa International บริษัท Hitachi และบริษัท Mitsubishi Electric Corporation เพื่อเชิญชวนขยายการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยตนพร้อมสนับสนุนการลงทุนของญี่ปุ่นและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนใหม่ในไทยอีกกว่า 2–3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับอีกหลายประเทศ ซึ่งจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในไทย” พิชัยกล่าว

นายพิชัย เสริมว่า ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยล่าสุด สับปะรดห้วยมุ่นของไทยได้รับขึ้นทะเบียนสินค้า GI ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสินค้ารายการที่ 3 ต่อจากกาแฟดอยช้างและกาแฟดอยตุง ภายใต้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนการขึ้นทะเบียน GI 3 + 3 นอกจากนี้ ตนยังได้แสดงความพร้อมที่กระทรวงพาณิชย์จะมีส่วนร่วมในงาน EXPO 2025 Osaka Kansai ที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 13 เมษายน – 13 ตุลาคม 2568 โดยจะมีการจัดThailand Pavilion นำเสนอศักยภาพของไทยผสมผสานระหว่างการแพทย์สมัยใหม่และการแพทย์แผนไทย การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ รวมถึงสินค้าสมุนไพร เครื่องสำอาง และสปา ซึ่งเป็นการส่งเสริม soft power ไทยสู่สากล

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย โดยในช่วง 11 เดือนของปี 2567 (มกราคม – พฤศจิกายน) มีมูลค่าการค้ารวม 48,093.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 21,545.26ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ของเครื่องจักรกล และเคมีภัณฑ์ และการนำเข้าของไทยจากญี่ปุ่นมูลค่า 26,547.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และแผงวงจรไฟฟ้า

Next Post

AIS ผนึก ตำรวจไซเบอร์ ปฏิบัติการเชิงรุก ปราบ โจรจีนเทา จับเครื่องส่ง SMS ปลอม เตือน! ประชาชนอย่ากดลิงก์เด็ดขาด

AIS ผนึก ตำรวจไซเบอร์ ปฏิบัติการเชิงรุก ปราบ โจรจี […]

You May Like

ข่าวภูธร