โฆษก ตร.แจง การแต่งตั้ง พ.ต.อ.ไพรัตน์ฯ รอง ผบก.อก.ภ.9 เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ โดยหน่วยเสนอเป็นผู้เหมาะสม ยังไม่เข้าเกณฑ์ที่จะพรากสิทธิ์ แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งตรวจสอบทุกมิติ หากพบมีมูลทางวินัยพร้อมจะดำเนินการต่อไป
วันนี้ (18 มกราคม 2568) พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) กล่าวถึงกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อโซเชียล กรณีการแต่งตั้ง พ.ต.อ.ไพรัตน์ หรือ พงศ์รัตน์ ไพพรรณรัตน์ รองผู้บังคับการอำนวยการ ตำรวจภูธรภาค 9 (รอง ผบก.อก.ภ.9) เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็น ผู้บังคับการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจราย พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ฯ เป็นการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจวาระประจำปี 2567 ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ที่เป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นการปฏิรูประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้กระบวนการแต่งตั้งเกิดความโปร่งใสเป็นไปตามหลักของ “อาวุโสและความรู้ความสามารถ”
พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ฯ จัดอยู่ในกลุ่มอาวุโสร้อยละ 50 ซึ่งทางตำรวจภูธรภาค 9 ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดเสนออยู่ในบัญชีผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น โดยการพิจารณาว่าข้าราชการตำรวจรายใดมีความเหมาะสมที่จะเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นนั้น จะมีกระบวนการพิจารณาตามลำดับชั้นจากระดับกองบังคับการ แล้วเสนอไปยังกองบัญชาการ โดยกรณี พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ฯ นั้น ผบก.อก.ภ.9 ได้เสนอให้คณะกรรมการระดับกองบัญชาการได้พิจารณาว่าเป็นผู้เหมาะสม ไม่ขัดคุณสมบัติที่จะสามารถเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นได้ โดยคณะกรรมการระดับกองบัญชาการเห็นพ้องกับข้อมูลที่ผู้บังคับการเสนอ
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ได้พูดถึงกรณีการแต่งตั้ง พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ฯ นอกเหนือจากอาวุโสและความรู้ความสามารถแล้ว ยังจะต้องพิจารณาในเรื่องของประวัติการรับราชการและความประพฤติอีกด้วย โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการถูกดำเนินการทางวินัยหรือต้องหาคดีอาญาแล้ว ปรากฏว่ายังไม่มีการรายงานตนต้องคดีหรือมีการรายงานจากหน่วยต้นสังกัดมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้ ในส่วนของการพิจารณา พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ฯ ในเรื่องของความประพฤตินั้น จากข้อมูลพบว่าถูกศาลจังหวัดพัทยาออกหมายจับ ที่ จ.430/2567 ลง 19 สิงหาคม 2567 ในความผิดฐาน เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ทำให้มีการพิจารณาต่อไปว่าเหตุในการออกหมายจับดังกล่าวนั้น เกิดจากการกระทำผิดโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันจะทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธาในการบังคับใช้กฎหมายของประชาชนเสื่อมถอยลง หรือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่อย่างไร
ผลการประชุมพิจารณาหารือพบว่า การพิจารณาข้าราชการตำรวจรายใดดำรงตำแหน่งสูงขึ้น จึงต้องพิจารณาจากประโยชน์ที่จะเกิดกับราชการควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ของข้าราชการตำรวจที่กฎหมายได้รับรองไว้ด้วย เมื่อกระบวนการทุกขั้นตอนรวมถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของข้าราชการตำรวจครบถ้วน และยังไม่ปรากฎ หรือมีเหตุทางกฎหมายที่จะพรากสิทธิของ พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ฯ ที่กฎหมายได้รับรองไว้ จึงต้องคัดเลือกแต่งตั้งตามที่หน่วยเสนอ ตามสิทธิ ระเบียบ กฎหมาย และกฎที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะไม่ละเลยในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องที่เกิดขึ้น หากผลของการดำเนินการดังกล่าวนำไปสู่การดำเนินการทางวินัยก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ในปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติจำเป็นจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ไปตามลำดับก่อน