มหาวีรวงศ์ สมเด็จพระราชาคณะ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ประกอบพิธียกฉัตรเหนือพระพุทธรูปโบราณ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า เมื่อวานนี้ 22 ก.พ. 65 เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สมเด็จพระราชาคณะ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ได้เดินทางมาประกอบพิธียกฉัตรเหนือพระพุทธรูปโบราณ ที่วัดทุ่งศรีวิไล บ้านชีทวน อ.เขื่อนใน จ.อุบลฯ ซึ่งเป็นวัดโบราณ ก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2340 โดยภายในวัดมีพระพุทธรูปโบราณ เป็นพระพุทธรูปหินศิลาแลง ปางนาคปรก ศิลปะสมัยขอม มีชื่อเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ เบื้องขวาของ หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ คือ พระชัยสิทธิ์ และองค์ด้านซ้ายมือ นามว่าพระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็น 3 พระพุทธรูปโบราณ ประดิษฐานในวิหารของวัดทุ่งศรีวิไล ซึ่งได้ประกอบพิธียกฉัตรเหนือพระพุทธวิเศษ ถือว่าเป็นมงคล และเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองโบราณอีกแห่งหนึ่งของ จ.อุบลฯ หลังเสร็จพิธียกฉัตร เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ท่านได้เดินทางไปกราบสักการะพระพุทธรูปพระประธานในวัดต่างๆ ของจังหวัดอุบลฯ ได้แก่ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร และวัดมหาวนาราม และได้มีเมตตามอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้กับญาติโยมที่มาเฝ้ารอรับ และผู้ว่าอุบลฯ ถือโอกาสนี้น้อมนำเอาพรบุญที่ได้จากการถวายงาน ให้พ่อแม่พี่น้องทุกท่านได้รับสิ่งที่เป็นมงคล จากเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์กันทุกๆท่าน 5 พระแก้ว พระพุทธรูปโบราณ อายุนับร้อยปี สิ่งมหัศจรรย์เมืองอุบลฯ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระโบราณต่างๆที่มีอยู่ใน จ.อุบลฯ และถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง จากการค้นพบ จ.อุบลฯมีพระแก้วคู่บ้านคู่เมืองอยู่ 5 องค์ จาก แก้ว 9 ประการ ซึ่งได้แก่ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย ไพฑูรย์ องค์แรก คือ พระแก้วไพฑูรย์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดหลวง เป็นองค์ที่มีลักษณะใส ส่องแสงสว่าง มีลายเส้นเสมือนเป็นสายฝนหยาดลงมา เป็นความหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ประจำเจ้านายเมืองอุบลฯตั้งแต่บรรพกาล มีอายุหลายร้อยปี และอาจจะมีอายุถึงพันปี ตามเพียงที่มีบันทึกไว้ คือ เจ้าคำผงได้ถวายให้เป็นสมบัติของวัดหลวง องค์ที่ 2 ได้แก่ พระแก้วบุษราคัม พระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะสลักจากแก้วบุษราคัม เป็นอัญมณีสีเหลือง อยู่ที่ วัดศรีอุบลรัตนาราม และเป็นพระพุทธรูปโบราณ อายุหลายร้อยปี หรือพันปี เชื่อว่าเป็นสมบัติแห่งเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ซึ่งเป็นจังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน ต่อมาได้อันเชิญมาอยู่ที่เมืองอุบลฯ เชื่อกันว่าพระแก้วบุษราคัม จะบันดาลให้ความร่มเย็นเป็นสุข องค์ที่ 3 ได้แก่ พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง วัดสุปัฏนารามวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ แกะจากแก้วผนึกสีขาวใส ประดุจน้ำค้างและมีแสงแวววาวอยู่ในตัวผนึก สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยเดียวกันกับพระแก้วบุษราคัม ซึ่งตามประวัติเท่าที่มีบันทึก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อ้วน ติสฺโส ในสมัยนั้น เป็ผู้มอบให้เป็นสมบัติของวัดปัฏนารามวรวิหาร และมีพิธีสงฆ์น้ำในวันขึ้นปีใหม่ องค์ที่ 4 ได้แก่ พระแก้วโกเมน อยู่ที่ วัดมณีวนาราม หรือวัดป่าน้อย ถือว่าเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณ อายุน่าจะเป็นสมัยเดียวกับพระแก้วบุษราคัม และพระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง องค์ที่ 5 ได้แก่ พระแก้วนิลกาฬ วัดเลียบ เป็นพระพุทธรูปโบราณ ถูกพบโดยบังเอิญ บนเพดานกุฏิหลังเก่าในวัดเลียบ ถูกบรรจุอยู่ในกล่องลายไม้สักโบราณ ซึ่งค้นพบมาประมาณ 20 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นพระแก้ว 5 องค์ คู่บ้านคู่เมืองของ จ.อุบลฯ ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เป็นสิริมงคล เป็นพระแก้วในอัญมณีต่างๆ ซึ่งสมัยโบราณ โดยการสันนิษฐาน อาจจะมีการสร้างครบ แก้ว 9 ประการ แต่ว่าด้วยเวลาผ่านไป พระแก้วต่างๆอาจจะถูกรักษาไว้ที่ต่างๆ เท่าที่ถูกค้นพบ และอยู่ในวัด ซึ่ง จ.อุบล จะทำการประชาสัมพันธ์ ให้ผู้มีจิตศรัทธา ได้มากราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว