หมอใหญ่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตรวจเยี่ยมเปิดจุดฉีดวัคซีนโควิด-19 Pfizer / AstraZeneca แบบ walk in เป็นวันแรก หวังกระตุ้นภูมิให้กับประชาชน 18 ปีขึ้นไปในพื้นที่ไม่จำกัดสัญชาติ 7-12 มี.ค.นี้
วันที่ 7 มีนาคม 2565 เวลา 09.30 น. นายแพทย์ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย ผู้บริหารเทศบาลเมืองอโยธยา และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเปิดจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 Pfizer / AstraZeneca แบบ walk in เป็นวันแรก ซึ่งจะให้บริการระหว่างวันที่ 7-12 มีนาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 09.00 -15.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ ด้านหลัง วัดใหญ่ชัยมงคล อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวนวันละ 1,500 คน ให้กับประชาชนไม่จำกัดสัญชาติ อายุ 18 ปีขึ้นไป ได้ตั้งแต่เข็มที่ 1-3 โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3
นายแพทย์ยุทธนา กล่าวว่า ภาพรวมการฉีดวัคซีนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของทุกกลุ่มอายุทำได้มากกว่า 90% ในเข็มแรก และกว่า 40% ในเข็มที่สาม ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการต่อสู้กับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โอไมครอนนี้ ในส่วนระลอกเดือน มกราคม จนถึงปัจจุบัน มีแนวโน้มที่มีผู้ติดเชื้อสูงขึ้น และติดเชื้อจะง่ายขึ้นจากระลอกที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะพบเจอน้อยลง ดังนั้น มาตรการที่จะนำมารับมือได้ดีที่สุด เรื่องแรก คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งในวันนี้เป็นการจัดฉีดวัคซีนนอกสถานที่อีกครั้งหนึ่ง โดยเราหวังผลในทุกเข็ม แต่สำคัญที่สุด คือเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) สำหรับท่านที่ได้ฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้ว และครบระยะที่ต้องมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) ทางสำนักงานสาธาณสุขจังหวัด ร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกแห่ง มีการจัดสรรวัคซีนสำหรับบริการทุกท่านไม่ว่าจะเป็น Pfizer หรือ AstraZeneca ซึ่งวัคซีนเข็มที่ 3 จะช่วยให้ท่านรับมือกับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โอไมครอน ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การระบาดทำให้มีผู้ป่วยรายวันเพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่ถ้าได้รับวัคซีนแล้ว หรือไม่มีภาวะเสี่ยงอื่น หรือเรียกว่ากลุ่ม 607 ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดัน ไต หัวใจ น้ำหนักเกิน อายุมากกว่า 60 ปี หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ เมื่อท่านเป็นผู้ติดเชื้อและแพทย์พิจารณาว่าไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยจะสามารถเข้าสู่ระบบการรักษา โดยมาที่จุดบริการของสาธารณสุขต่าง ๆ โรงพยาบาล หรือ รพ.สต. เมื่อตรวจพบทางเจ้าหน้าที่จะประเมินอาการ ซึ่งหาก “เจอ” เจ้าหน้าที่จะทำการ “แจก” มีอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ 1. แจกความรู้ ซึ่งทางเจ้าที่จะอธิบายว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เบอร์โทรของเจ้าหน้าที่ เพื่อการติดต่ออย่างใกล้ชิดเมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลง 2. แจกยา ซึ่งจะเป็นยาที่ใช้จำเพาะที่สำหรับอาการ หรือความเสี่ยงบางประการ เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร และยารักษาตามอาการ โดยเจ้าหน้าที่จะโทรติดตามอาการจนครบ 48 ชั่วโมง และกักตัวจนครบการรักษา จนหายจากการติดเชื้อแล้วกลับมาใช้ชีวิตปกติ
สุขุม แก้วกุดั่น อยุธยา