นพ.เศกสรรค์ ชวนะดีเลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอยุธยา Call Center 0 3532 1456 ให้คำปรึกษาและประสานให้ความช่วยเหลือประชาชน
นพ.เศกสรรค์ ชวนะดีเลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุทัย นางพิศมัย เลิศอิทธิบาท ประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางปาริชาติ พุทไธสง หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้คำแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ Call Center ห้องประชุมพุทธไธศวรรย์ ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ รวมทั้งประสานการให้ความช่วยเหลือด้านการรักษา และประสานการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ แก่ประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากพบข้อสงสัยหรือปัญหาเกี่ยวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ติดต่อได้ที่ปฏิบัติการควบคุมโรคอยุธยา Call Center โทร 0 3532 1456 จำนวน 5 คู่สาย ตั้งแต่ 18.30-17.00 น.ของทุกวัน
นพ.เศกสรรค์ ชวนะดีเลิศ เปิดเผยว่า สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอไมครอน เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การตรวจ ATK จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอันดับต้น ๆ ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ ซึ่งแนวทางปฏิบัติกรณีที่ตรวจพบ ผลเป็นบวก ให้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เช่น รพ.สต. หรือ โรงพยาบาลชุมชน เพื่อประเมินในการตรวจ ATK ยืนยันอีกหนึ่งครั้ง ถ้าเป็นผลบวกจริง แนวทางการดูแลในปัจจุบันเรามี 4 แนวทาง ประเมินตามอาการ สีเหลือง คืออาการหนัก หรือสีแดงคืออาการวิกฤต จะส่งตัวเข้าสู่ระบบการรักษาโรงพยาบาลภาครัฐหรือภาคเอกชน
ในปัจจุบันการระบาดส่วนใหญ่อาการจะเป็นสีเขียว ดังนั้น แนวทางการปฏิบัติ คือ เจอ แจก จบ ซึ่งประชาชนสามารถเดินทางมาติดต่อที่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อพบการติดเชื้อให้ทำการลงทะเบียนว่าเป็นผู้ป่วยโควิดกับทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเจ้าหน้าที่จะทำการจ่ายยาและให้ความรู้ในการดูแลการป้องกันและกลับไปรักษาตัวอยู่ที่บ้าน หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำการติดตามอาการภายใน 48 ชั่วโมง โดยไม่มีเครื่องวัดไข้หรืออุปกรณ์ให้ ซึ่งเหมาะกับการดูแลแบบรวดเร็ว ส่วนรูปแบบ Home Isolation (HI) ระบบการรักษาตัวที่บ้าน จะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำการตรวจยืนยันอีกหนึ่งครั้ง จากนั้นก็จะมีการประเมินในส่วนของการเอ็กซเรย์ปอด แจกอุปกรณ์ และดึงผู้ติดเชื้อเข้ากลุ่ม LINE ของพื้นที่ เพื่อติดตามอาการ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงจะนำเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาล
สำหรับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มี CI หรือ ศูนย์พักคอยทุกอำเภอ จะทำหน้าที่คล้ายๆกับบ้านหลังที่สองให้กับผู้ที่ติดเชื้อ โดยมีการดูแลเรื่องอาหารการกิน เอ็กซเรย์ปอด และการจ่ายยาตามอาการ เช่นเดียวกับรูปแบบโรงพยาบาลสนาม จะทำหน้าที่รองรับผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่สามารถรักษาที่บ้านได้ และ CI เต็มแต่จำเป็นต้องการดูแลแบบใกล้ชิด ซึ่งรูปแบบทั้งหมดเป็นแนวทางในการช่วยเหลือดูแลให้ประชาชนกลุ่มโควิดสีเขียวได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและครอบคลุมประชากรในพื้นที่ต่อไป
สุขุม แก้วกุดั่น อยุธยา