โฆษกคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะลงพื้นที่ศึกษาดูงานปัญหาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ รับเรื่องการขอให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่องการอนุมัติการแจ้งข้อหาสมคบฯคดีเกี่ยวกับยาเสพติด เนื่องจากเป็นอุปสรรคกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ พร้อมชื่นชมผลการทำงานแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่
วันที่ 2 สิงหาคม 2567 ที่ห้องประชุมชัยสุนทร ตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.กาฬสินธุ์ เขต 2 ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายยุทธนา เกียรติดำเนินงาม เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ นายต่อชาติ ฆารไสว ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ นายศุภโชติ ธาตุรักษ์ เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ นายสิริชัย พละมาตย์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ นางสาวปัญฑารีย์ ศิลป์สาย ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักกรรมาธิการ 2 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเข้าศึกษาดูงานปัญหาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์
โดยมีพล.ต.ต.ตรีวิทย์ ศรีประภา ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ พ.ต.อ.สมพงศ์ มั่นหมาย รองผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ พ.ต.อ.สมยศ ศรีพระคุณ ผกก.สภ.ยางตลาด พ.ต.อ.ธีรวุฒิ วงศาอ้วน ผกก.สภ.กมลาไสย พ.ต.อ.สรกฤช ราชภักดี ผกก.สภ.ดอนจาน พ.ต.อ.นพวิทย์ ดิษฐาธนาธรสิริ ผกก.สส.ภ.จว.กาฬสินธุ์ พ.ต.ท.อภิชาติ ประพิณ รองผกก.(ป.) สภ.เมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสรุปผลการดำเนินงาน
นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.กาฬสินธุ์ เขต 2 ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การเดินทางมาศึกษาดูงานในวันนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการศึกษาและรับฟังข้อมูลการดำเนินงาน ปัญหา และอุปสรรคเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ทั้งเรื่องสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ การจับกุมผู้ค้า มาตรการป้องกันและปราบปราม การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน
ทั้งนี้จากการรับฟังเบื้องต้นเจ้าหน้าที่หลายคนมีความเป็นห่วงกังวล และอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขประกาศของกระทรวงยุติธรรม เรื่องการอนุมัติการแจ้งข้อหาสมคบ ช่วยเหลือ สนับสนุน คดีเกี่ยวกับยาเสพติด เพราะจะต้องให้เลขาธิการปปส.อนุมัติเสียก่อน ตำรวจจึงจะสามารถแจ้งข้อหาได้ ทั้งที่ศาลอนุมัติออกหมายจับแล้ว ซึ่งปัญหานี้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะหลายคดีเป็นไปด้วยความล่าช้าและยากลำบากหลายขั้นตอน นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงเรื่องสถานที่ที่ใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดรวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอีกด้วย ซึ่งการมารับฟังข้อมูลวันนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพิจารณาศึกษา เรื่องปัญหาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของคณะกรรมาธิการต่อไป
อย่างไรก็ตามสำหรับผลการดำเนินงานการจับกุมยาเสพติดเดือนตุลาคม 2566 – กรกฎาคม 2567 รวม 3,236 คดี ของกลางยาบ้า 790,005 เม็ด ไอซ์ 193 กรัม ยึดทรัพย์ 35,645,411 บาท ในส่วนผลการดำเนินการปฏิบัติการเร่งรัดบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด ซึ่งผลงานด้านปราบปรามวันที่ 1 มิถุนายน – 28 กรกฎาคม 2567 ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 63.04 โดยการยึดอายัดทรัพย์สินเบื้องต้น เป้าหมาย 16.8 ล้านบาท ดำเนินการได้ 18,161,353 บาท คิดเป็นร้อยละ 108.10 , ความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด เป้าหมาย 446 ดำเนินการแล้ว 449 คิดเป็นร้อยละ 100.67, ผลการดำเนินการต่อกลุ่มเครือข่ายค้ายาเสพติดรายสำคัญเป้าหมาย 4 เครือข่าย ดำเนินการแล้ว 4 เครือข่าย, ดำเนินคดีข้อหาสมคบ ช่วยเหลือ สนับสนุน เป้าหมาย 15 คดี ดำเนินการแล้ว 22 คดี คิดเป็นร้อยละ 146.67
ทั้งนี้ในห้วงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 กรกฎาคม 2567 ตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์มีผลการจับกุมคดียาเสพติดข้อหาสมคบช่วยเหลือ สนับสนุน จำนวน 73 คดี ข้อหาฟอกเงิน 7 คดี และหมายจับคดียาเสพติดข้อหาร้ายแรง 89 หมาย ซึ่งผลการปฏิบัติงานทั้ง 3 เรื่องสามารถปฏิบัติหน้าที่จุบกุมได้มากสุดในตำรวจภูธรภาค 4 นอกจากนี้ยังมีการขึ้นบัญชีนักค้ายาเสพติดในพื้นที่ไว้ 194 รายชื่อตามนโยบายของตำรวจภูธรภาค 4 ซึ่งมีผลการดำเนินการทั้งการจับกุมในข้อหาจำหน่าย จับกุมข่อหาเสพฯ ปิดล้อมตรวจค้นและ สอบปากคำผุ้นำชุมชน