รรท.รอง ผบ.ตร. เปิดอบรมยกระดับการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต พร้อมแสวงหาความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ
พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาล ที่ตระหนัก และให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมุ่งหวังให้ ตร.มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้นำนโยบายรัฐบาล มาสู่การปฏิบัติ โดยได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค)/ผอ.ศพดส.ตร. ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
พล.ต.ท.ประจวบฯ เปิดโครงการสัมมนาพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศ ต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 9 – 11 ก.ย.67 ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้ารับการอบรมเป็น รอง ผบก.สส. และ รอง สว. – ผบ.หมู่ ผู้รับผิดชอบงานล่วงละเมิด ทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ทุก บก./ภ.จว. ในสังกัด บช.น. และ ภ.1 – 9 รวม 180 คน
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์ เป็นปัญหาระดับโลกที่มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยต้องมีการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาศักยภาพของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการป้องกันปราบปรามการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์ ปัจจุบันรูปแบบของการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์ ได้แก่ สื่อแสดงการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก การตระเตรียมเด็กออนไลน์เพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ การส่งข้อความหรือรูปภาพยั่วยุทางเพศ การแบล็คเมล์ทางเพศออนไลน์ การถ่ายทอดสดการละเมิดทางเพศต่อเด็ก และการกลั่นแกล้งรังแกกันในโลกออนไลน์ ซึ่งการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในโลกออนไลน์
เป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ของสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2024 ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 2 ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม ดังนั้น การสัมมนาในวันนี้จึงมีความสำคัญ และเป็นการมุ่งพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ เพื่อให้การป้องกันปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในโลกออนไลน์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยึดหลักเด็กเป็นศูนย์กลาง วิเคราะห์เป้าหมายและข้อมูลเบาะแส รับแจ้งเหตุและการบริหารจัดการเคสอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความรู้ความเชี่ยวขาญและทักษะในการสืบสวนพยานหลักฐานทางดิจิทัล นำความรู้ในการสืบสวนทางเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้กับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม มีความรู้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน
จากนั้น พล.ต.ท.ประจวบฯ ได้ประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ร่วมกับ พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย รอง จตร./หน.ชป.TICAC, นางเตือนใจ คงสมบัติ ผู้ตรวจราชการ พม., นายรัชพล มณีเหล็ก ผอ.กองต่อต้านการค้ามนุษย์, นายวิจิตา รชตะนันทิกุล อดีตที่ปรึกษาวิชาการ พม. และ NGOs ได้แก่ ผู้แทนมูลนิธิไอเจเอ็ม, คลินิก กม.แรงงาน HRDF แม่สอด, ศูนย์พิทักษ์เด็กพัทยา มูลนิธิ A21, โครงการ ASEAN – ACT ประจำประเทศไทย, ไซเบอร์ วินร๊อก อินเตอร์เนชั่นแนล, องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประจำประเทศไทย และ มูลนิธิ Spring เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการปราบปรามการค้ามนุษย์และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือต่างๆ ในการปฏิบัติงาน
สำหรับความผิดฐานค้ามนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ได้กำหนดให้มีการระดมกวาดล้างจับกุมในระหว่างวันที่ 15 – 30 ก.ย.67 ส่วนความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต ได้ส่งการระดมกวาดล้างจับกุม ในระหว่างวันที่ 20 ส.ค. – 30 ก.ย.67 ด้วยการป้องกันปราบปรามที่เข้มข้น ได้มุ่งเน้นผลการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
พล.ต.ท.ประจวบฯ รรท.รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศพดส.ตร. กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังว่าการระดมสรรพกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทุกภาคส่วน ในการเร่งรัดปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมงจะประสบผลสำเร็จ ตอบสนองนโยบายรัฐบาล เสริมสร้างความเสมอภาค เท่าเทียม และรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ประชาชนและสังคมมีความสงบเรียบร้อยสืบไป